วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2550


นวัตกรรมการศึกษา
นวัตกรรมการศึกษา หมายถึง แนวคิด ระบบ กระบวนการ วิธีการ กฎ ระเบียบ ทฤษฎี แนวปฏิบัติ และสิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่เพื่อแก้ปัญหา หรือพัฒนาคุณภาพผู้เรียน นวัตกรรมการศึกษา จึงเป็นการสร้างสรรค์ผลงานทางการศึกษารูปแบบใหม่ๆ ของโรงเรียน ซึ่งไม่เหมือนใครและยังไม่มีใครทำมาก่อน หรืออาจเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนตามความต้องการของโรงเรียน ท้องถิ่น ชุมชน

แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้
1. ความหมายของแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ หมายถึง ศูนย์รวมของวิชาความรู้ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ บุคคล สิ่งประดิษฐ์ วัตถุ อาคาร สถานที่ ซึ่งมีอยู่กระจัดกระจาย ทั้งชุมชนเมืองและชุมชนชนบท อันเป็นขุมทรัพย์แห่งปัญญาที่แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของมนุษย์ เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ค้นพบได้อย่างไม่รู้จบ
2. คุณลักษณะของแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่แท้จริงต้องสามารถสัมผัสกับบรรยากาศและสถานการณ์จริงโดยเอื้อประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้นั้นเกิดได้กับผู้เรียนทุกคน ทุกเวลา มีความหมาย มีความหลากหลาย สามารถเน้นทักษะและนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ ผู้เรียนมีอิสระในการตัดสินใจ คิดริเริ่มและ ปฏิบัติได้อย่างมีความสุข
3. ประเภทของแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ ประเภทของแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ จำแนกได้หลายประเภทตามทัศนะของนักการศึกษาแต่ที่เด่นชัด จำแนกเป็น 4 ประเภทใหญ่ คือ
3.1 แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ประเภทบุคคล หมายถึง บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม มีผลงานได้รับการยกย่อง เป็นที่ยอมรับของสังคมซึ่งถือเป็นตัวอย่างต้นแบบกับบุคคลรุ่นหลังสืบไปในหลายสาขาอาชีพ ตัวอย่างเช่น แม่กิมลั้ง แม่กิมเนีย ที่มีความถนัดทางด้านปรุงแต่งขนมหม้อแกงเมืองเพชร โกฮับเจ้าเก่า ผู้บุกเบิกก๋วยเตี๋ยวเรือคลองรังสิตจนเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ด้านการเรียนการสอน มีครูต้นแบบสร้างสรรค์ ผลงานนวัตกรรมทางการสอนขึ้นหลายรูปแบบ เช่น สอนให้สนุกเป็นสุขเมื่อได้สอน การสอนที่เน้นกระบวนการ การสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร เพื่อนสอนเพื่อน การสอนสิ่งแวดล้อมศึกษา การสอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นเมือง
3.2 แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ประเภททรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สภาพธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในโลกและอวกาศ ซึ่งไม่ได้หมายถึงสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ เช่น ภูเขา ป่าไม้ ลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ และสัตว์ป่านานาชนิด เป็นต้นเนื่องด้วยปัจจุบันมีการนำธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาใช้ประโยชน์อย่างมากจนเหลือจำนวนน้อยลง มนุษย์เริ่มตระหนักถึงภัยที่จะเกิดขึ้นเพราะขาดธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงได้มีการรณรงค์สร้างสิ่งทดแทนธรรมชาติ ได้แก่ ปลูกป่า จัดระบบนิเวศวิทยา อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการสอนพฤกษ-ศาสตร์ อนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชนานาชนิด
3.3 แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ประเภทสื่อ หมายถึง สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่ใช้เป็นช่องทางการสื่อสาร แยกได้ 2 ประเภท คือ
(1) สื่อทางด้านกายภาพ ได้แก่ วัสดุ ลักษณะสิ่งพิมพ์ ฟิล์ม แผ่นภาพโปร่งใส เทปบันทึกภาพ เทปบันทึกเสียง แผ่น CD ชนิดเสียงและภาพ เป็นต้น อุปกรณ์ เป็นตัวช่องทางผ่านในลักษณะเครื่องฉาย เครื่องเสียงชนิดต่างๆ เป็นต้น
(2) สื่อทางด้านวิธีการ ได้แก่ รูปแบบที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ทั้งการใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน และเทคโนโลยีระดับสูง ได้แก่
(2.1) สื่อท้องถิ่น ประเภทเพลง เช่น หมอลำ หนังตะลุง ลำตัด อีแซว ลำนำเพลงซอ เพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย และนิทานพื้นบ้าน เป็นต้น
(2.2) สื่อกิจกรรม เช่น หมากเก็บ หมากขะเหย่ง ตี่จับ มอญซ่อนผ้า เดินกะลา เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า สื่อกิจกรรมพื้นบ้านดังกล่าวมีมาแต่โบราณ หลายกิจกรรมเหมือนกับของชนเผ่าปิกมี่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความสนุกตื่นเต้นในกลุ่มเด็กๆ ปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมอยู่ แต่ก็มีกิจกรรมที่ได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ จนถึงการใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น โปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ บทเรียนโปรแกรม โปรแกรมผ่านสื่ออินเตอร์เนต ระบบมัลติมิเดีย ประเภท E-Learning เป็นต้น ซึ่งการประชุมสัมมนา การปฏิบัติงานกลุ่ม การทัศนศึกษา ก็เข้าข่ายสื่อกิจกรรมชนิดหนึ่ง
3.4 แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ประเภทวัตถุและอาคารสถานที่ หมายถึง วัตถุและอาคารสถานที่ ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งความรู้ด้วยตัวของมันเอง สามารถสื่อความหมายโดยลำพังตัวเอง เช่น สถาปัตยกรรมด้านการก่อสร้าง จิตรกรรมภาพฝาผนัง ปูชนียวัตถุด้านประวัติศาสตร์ ชิ้นส่วนของธรรมชาติที่ให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ โบราณวัตถุทางด้านศาสนา พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น

เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาคือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานด้านการศึกษา อันได้แก่ การจัดเก็บข้อมูล และประมวลผลฐานข้อมูล การพัฒนาระบบสารสนเทศช่วยการเรียนการสอน การวางแผนและการบริหารการศึกษา การวางแผนหลักสูตร การแนะแนวและบริการ การทดสอบวัดผล การพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้สำหรับการสอนเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่าง ทำให้การเรียนการสอนด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย ห้องเรียนสมัยใหม่ มีอุปกรณ์วิดีโอโปรเจคเตอร์ (Video Projector) มีเครื่องคอมพิวเตอร์ มีระบบการอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบต่างๆ รูปแบบของสื่อการศึกษาที่นำมาใช้ในการเรียนการสอน ก็มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการนำมาใช้ เช่น มัลติมีเดีย อิเล็กทรอนิกส์ยุค วิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ ระบบวิดีโอออนดีมานด์ ไฮเปอร์เท็กซ์ คอมพิวเตอร์ และระบบอินเตอร์เน็ต

คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา
การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา คือ การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในกิจการด้านการศึกษา ประกอบด้วยงานหลัก 4 ระบบ
1. คอมพิวเตอร์เพื่อบริหารการศึกษา (Computer for EducationAdministration) เป็นการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการบริหารงานด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารงานด้านการศึกษาประกอบด้วยครู ผู้เรียน และเจ้าหน้าที่บุคลากรที่เกี่ยวข้องอื่น ๆเป็นต้น
2. คอมพิวเตอร์เพื่อบริการการศึกษา (Computer for Education Service) หมายถึง การบริการการศึกษาด้านต่าง ๆ เช่น การบริการสารสนเทศการศึกษา
3. คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน (Computer Assisted Instruction) หมายถึงการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในกิจกรรมการเรียนการสอนในเนื้อหาวิชาต่างๆ
4. การรู้คอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) เป็นการศึกษา การสอน/การฝึกอบรมเกี่ยวกับความรู้ความสามารถและทักษะการใช้คอมพิวเตอร์โดนตรงรวมทั้งการประยุกต์ใช้ และเจตคติต่อคอมพิวเตอร์และ ICT

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550

สื่อมวลชนกับการศึกษา

ปัจจุบันชีวิตของมนุษย์ย่อมเกี่ยวข้องกับการสื่อมวลชนไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เป็นที่ยอมรับกันว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลเหนือจิตใจของประชาชน ซึ่งถูกกำหนดและชักจูงให้เกิดความรู้สึกหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไป ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว สื่อมวลชนเองก็จะต้องตระหนักในหน้าที่ที่จะต้องกระทำและมองดูบทบาทของตนที่จะมีส่วนในการจรรโลงสังคมให้ดีขึ้น และปรับบทบาทของตนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และช่วยเป็นกระจกสะท้อนภาพปัญหาและทางแก้ไขปัญหาให้สังคมด้วย
ความหมายของสื่อมวลชน
การสื่อสารมวลชนเป็นการติดต่อสื่อสารไปยังผู้รับสารที่มีจำนวนมากๆ หรือเป็น มวลชนซึ่งมวลชนอาจรวมกันอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งหรือกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ โดยการเข้าถึงผู้รับ (elements of circulation) มี 3 ประการ คือ
1. ความสะดวกของผู้รับในการใช้สื่อ
2. ความสามารถในการรับสารได้ในทันทีที่ต้องการ
3. ความรวดเร็วในการส่งสาร
สื่อมวลชนประกอบด้วย
1. สื่อสิ่งพิมพ์ (print materials) ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ แผ่นพับจดหมายเวียน ใบติดประกาศ ตัวอักษรที่เครื่องบินพ่นเป็นควันบนฟ้า และเครื่องมืออื่น ๆ ซึ่งนำสารไปสู่ มวลชนโดยผ่านทางตา
2. สื่ออิเลคโทรนิค (electronic media) ได้แก่ รายการวิทยุ และการบันทึกเสียงต่าง ๆ ซึ่งผ่านทางหู หรือ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และการบันทึกวิดีโอ ซึ่งผ่านทั้งทางตาและทางหู
3. สื่อบุคคลสื่อบุคคล เป็นสื่อที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารที่เก่าแก่ที่สุด เริ่มตั้งแต่การกำเนิดมนุษย์ชาติการติดต่อสื่อสารโดยสื่อบุคคลนั้น อาจมีทั้งในรูปของคำพูด และการแสดงออกทางอากัปกิริยา ท่าทาง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการสื่อสารวิธีดังกล่าวเป็นเครื่องมือการ สื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสื่อหนึ่ง
บทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน
บทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน คือ การกระทำของสื่อมวลชนที่ได้ส่งผล กำลังส่งผลหรือที่จะส่งผลต่อชีวิตและสังคมนั่นเอง ซึ่งการกระทำนั้นอาจเป็นไปตามธรรมชาติของการสื่อสารมวลชนหรือเป็นไปตามจารีตประเพณีหรือศีลธรรมจรรยาของสังคม ตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้สำหรับอาชีพหรือวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นๆบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางด้านสังคมโดยรวมและบุคคลทั้งทางลบและทางบวก ยกตัวอย่างเช่น สื่อมวลชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจและการอุตสาหกรรมอย่างขาดไม่ได้ ช่วยสร้างงานให้กับคนงานจำนวนหลายล้านคน ในวงการสื่อเองก็เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งมีการลงทุนจำนวนมหาศาล สื่อมวลชนกลายเป็นศูนย์รวมทางด้านการเมือง โดยมีการใช้สื่อเพื่อการรณรงค์ทางการเมืองของพรรค การหาเสียง และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป การสื่อสารมวลชนเข้าไปแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชน การรับฟังรายการวิทยุ การชมรายการโทรทัศน์ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนที่อยู่ในเมืองและในชนบท ทั้งเพื่อความบันเทิง การรับรู้ข่าวสารต่างๆจากภายในประเทศและต่างประเทศ ความรู้และวิทยาการต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนข้อมูลของสินค้าและบริการที่โฆษณาผ่านสื่อต่างๆ หนังสือหรือนิตยสารช่วยให้เราสามารถรับความรู้และข่าวสารทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน การเข้าชมภาพยนตร์ตามโรงภาพยนตร์ที่มีอยู่ทั่วไปเป็นการตอบสนองทางด้านความบันเทิงและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในสังคมต่างๆอย่างไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงผลในด้านตรงกันข้ามหรือด้านลบแล้ว การวิจารณ์สื่อมวลชนที่ผ่านมาแสดงให้เราเห็นว่า สื่อมวลชนสามารถทำให้เกิดผลบางอย่างที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น หลายครั้งที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงผลเสียต่อสังคมที่เกิดจากการกระทำของสื่อมวลชน เช่นการบริโภคข่าวสารที่ไม่เป็นประโยชน์ การมอมเมาประชาชนให้หลงเชื่อข่าวสารที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ โชคลาง การใบ้หวยของเกจิอาจารย์ชื่อดัง จากการประโคมข่าวของสื่อมวลชน การพยายามสร้างข่าวเพื่อเป็นประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางพวกโดยใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือ หรือแม้แต่นักข่าวที่ไร้จรรยาบรรณ ใช้สื่อมวลชนเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์หรืออามิสสินจ้างที่ไม่ถูกต้องตามกฎ ระเบียบขององค์กร เป็นต้นหากสื่อมวลชนได้ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของสถาบันที่มีต่อประชาชน และรู้ถึงบทบาท ในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของสื่อ และพยายามกำหนดบทบาทปละหน้าที่ไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว ก็เชื่อแน่ได้ว่าจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมทั้งประเทศและของโลกที่เราอาศัย
สื่อมวลชนที่มีอิทธิพลต่อสังคมมากที่สุดในปัจจุบันคือ เพราะอะไร
สื่อทุกชนิดมีอิทธิพลต่อสังคม เพราะ สื่อมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเรียนรู้และการพัฒนาการของมนุษย์ และไม่อาจปฎิเสธได้ว่าสื่อนี้เองสามารถส่งผลกระทบทั้งในเชิงสร้างสรรค์และผลกระทบในเชิงลบให้กับผู้รับสื่อ โดยเฉพาะ กลุ่มเด็ก เยาวชนและครอบครัว สื่อมีพลังอำนาจอย่างสูงในการปลูกฝังค่านิยมเรื่องเพศ ความรุนแรง และบริโภคนิยม ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม และในหลายต่อหลายครั้งที่เราจะพบว่าสื่อได้กลายเป็นต้นเหตุของการโน้มนำสู่การกระทำที่ไม่สมควร เช่น ในกรณีของสื่อลามกอนาจาร สื่อความรุนแรงที่ได้กลายเป็นสาเหตุของการกระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ
ความคิดเห็นเกี่ยวกับคำกล่าวที่ว่าสื่อมวลชนเปรียบเสมือนดาบสองคม
ผลกระทบจากการรายงานข่าว และเสนอภาพข่าวดังกล่าว เปรียบเสมือนดาบสองคม แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเปรียบเสมือนดาบสามคม ท่านอ่านไม่ผิดแน่นอน ปกติ เรามักจะได้ยินเฉพาะดาบสองคม ซึ่งความหมายก็คือ คมที่หนึ่ง จะให้คุณ หรือให้ประโยชน์กับเรา ส่วนคมที่ สอง ก็จะให้โทษ หรือให้ผลในด้านลบกับเรา ผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ในการตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง หากมีลักษณะดาบสองคมแล้ว ก็จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการตัดสินใจ และจะต้องคิดชั่งน้ำหนักให้รอบคอบว่า ผลบวก ที่ได้ กับผลลบที่จะเกิดขึ้นอันไหนจะมากกว่ากัน ส่วนเรื่องที่ข้าพเจ้ากำลังพูดถึงคือการเสนอภาพเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับอันตรายนี้เปรียบเสมือนดาบ สองคมคือ
คมที่หนึ่ง สื่อจะได้ประโยชน์จากการขายข่าว ได้ผลงานจากการนำเสนอที่รวดเร็ว ฉับไว ตรงไปตรงมา และประชาชนบางส่วนที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในภาคใต้ก็ได้ประโยชน์จากการรับทราบข้อมูลข่าวสารที่สื่อต่าง ๆ แข่งขันกันรายงาน ถือว่า คนกลุ่มน้อยของประเทศไทยได้ประโยชน์
คมที่สอง จะให้โทษกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ บั่นทอน ขวัญ กำลังใจของเจ้าหน้าที่ สร้างความสยดสยองกับพี่น้องประชาชนทั่วไป และทำให้ประเทศไทยขาดความเชื่อมั่นจากต่างชาติ ถือว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเสียประโยชน์
คมที่สาม ถือว่าสำคัญยิ่ง และเป็นหัวใจที่ข้าพเจ้าตั้งใจเขียนก็คือ ภาพดังกล่าว สร้างผลงานให้ผู้ก่อการร้าย สร้างวีรบุรุษ ของพวกเขา สร้างขวัญ สร้างกำลังใจ สร้างความฮึกเหิม และสามารถเรียกรับเงินสนับสนุนได้มากขึ้น เพราะผลงานที่เขาสร้างความย่อยยับให้กับประเทศไทยนั้นปรากฎตามสื่อต่าง ๆ โดยที่มิต้องไปตระเวนหาว่าเขามีผลงานหรือไม่ ถือว่า ฝ่ายตรงข้ามได้ประโยชน์
ความคิดเห็นกับการจัดเรตติ้งทางทีวี
การจัดประเภทรายการ เป็นสิ่งที่ดีมาก ไม่เช่นนั้น เด็กก็จะยังได้รับภาพและเรื่องราวที่ไม่เหมาะสมอยู่ดี อย่างกลับบ้านมาตอนเย็นไม่มีผู้ใหญ่ดูทีวีด้วย แล้วใครจะแนะนำ อย่าว่าแต่เด็ก ผู้ใหญ่กันเองก็ดี ถ้าดูละครตบตี อิจฉาริษยา มากๆ ก็อาจติดมาใช้ในชีวิตจริงได้ ทำลายความสุขส่วนรวมของสังคมอย่างยิ่ง แทนที่จะคิดช่วยกัน กลายเป็นคิดแย่งกัน
SMS มีผลดีผลเสียกับสังคมอย่างไร
มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีของ SMS คือ สามารถแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ผ่าน SMS ได้ ข้อเสีย หากมีบุคคลส่งประเด็นที่ล่อแหลม ภาษาไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นตัวอย่างไม่ดีต่อเยาวชนของชาติเพราะบางครั้งเด็ก ไม่สามารถแยกได้ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี เพราะข้อความแสดงขึ้นหน้าจอ โดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องก่อน และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงคือเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์ต่าง ๆ
การนำสื่อมวลชนมาใช้ในการศึกษาจะเกิดประโยชน์กับการศึกษาหรือการเรียนการสอนอย่างไร
ประโยชน์ของการนำสื่อมวลชนมาใช้ในสถานศึกษา
1. สามารถแพร่กระจายความรู้เนื้อหาสาระในสาขาวิชาต่าง ๆ ไปสู่คนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้กว้างขวางขึ้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์
2. เปิดโอกาสให้ประชาชนที่กระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีโอกาสได้รับประโยชน์ทางการศึกษาเท่าเทียมกัน เป็นการขยายห้องเรียนให้กว้างออกไป โดยผู้เรียนไม่ต้องมาเข้าชั้นเรียน แต่สามารถเรียนได้ตามลำพังและตลอดเวลา
3. ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัสดุการศึกษาของระบบโรงเรียน ทั้งด้านสถานที่ บุคลากร สื่อการเรียนการสอน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
4. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของรัฐ ถ้าได้มีการวางแผนเตรียมการัดกุมจะสามารถจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนได้ครอบคลุม ต่อเนื่องและมีคุณภาพคุ้มกับการลงทุน
ประโยชนทางด้านการสอน
1. เพื่อการสอนโดยตรง สื่อมวลชนที่ใช้สอนโดยตรงจะต้องมีเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในสื่อตรงตามเนื้อหาบทเรียน
2. เพื่อเพิ่มคุณค่าทางการสอน เป็นการนำสื่อมวลชนมาใช้ประกอบการสอนเพื่อเพิ่มความรู้แก่ผู้เรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าที่เรียนจากสื่อที่ใช้ในการสอนโดยตรงในชั้นเรียน สื่อมวลชนที่นำมาใช้จะมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับบทเรียนตามหลักสูตร แต่จะขยายวงกว้างกว่าสื่อที่นำมาสอนโดยตรง
จะมีแนวทางในการนำสื่อมวลชนมาใช้กับการศึกษาได้โดย
1. ใช้เป็นเครื่องมือในการสอน ผู้สอนสามารถนำรายการวิทยุ โทรทัศน์ มาผนวกกับการสอน และเป็นสื่อที่ให้เนื้อหาความรู้เกี่ยวกับบทเรียนนั้นโดยตรง
2.ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการ โดยการใช้กล้องโทรทัศน์ช่วยในการจับภาพจากกล้องจุลทัศน์เพื่อฉายให้ผู้เรียนเห็นบนจอรับภาพ
3.ใช้เป็นสื่อสอนแทนครู ในกรณีที่มีการขาดแคลนครู ก็อาจใช้วิทยุหรือโทรทัศน์เพื่ออกอากาศการสอนได้
4.ใช้เป็นเพื่อเสริมความรู้ เป็นการใช้รายการวิทยุ โทรทัศน์ ข่าวสารบทความเสริมให้ผู้เรียนได้รับความรู้
5.ใช้เป็นอุปกรณ์การสอนจุลภาค/มหภาค โดยการบันทึกวีดิทัศน์การสอนหรือการปฏิบัติของผู้เรียนแต่ละคน
6.ใช้เป็นสื่อในการศึกษาระบบเปิด โดยใช้วิทยุหรือโทรทัศน์เป็นสื่อเพื่อดำเนินการสอนส่งไปยังผู้เรียนที่อยู่ตามบ้าน
7. ใช้เป็นอุปกรณ์ในการบันทึกเรื่องราวสำคัญ การแสดง การทดลอง การบรรยายโดยวิทยากร ที่ออกอากาศทางวิทยุ สามารถบันทึกลงวีดิทัศน์ เทปบันทึกเสียง และสิ่งพิมพ์ได้
8. ใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ เป็นการรวบรวมวัสดุที่บันทึกเรื่องราวสำคัญต่างๆ ไว้เพื่อการศึกษาค้นคว้า โดยอาจเก็บไว้ในห้องสมุด
9. ใช้เป็นให้ผู้เรียนหรือผู้ฟัง/ผู้ชมร่วมในรายการ
10. ใช้เป็นเพิ่มความเป็นธรรมในสังคม โดยการให้ความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ผู้ที่ต้องออกจากโรงเรียน ผู้เรียนกลุ่มพิเศษ โดยการใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ วีดิทัศน์
11. ใช้เป็นเพื่อบริการสังคม เพื่อการเสนอข่าวสาร ความรู้ สาระบันเทิง ตลอดจนการศึกษาทั้งทางตรง และทางอ้อม
เมื่อมีสื่อมวลชนประเภทต่างๆ มีแพร่หลายมากในปัจจุบันดังนั้น การใช้สื่อมวลชนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และควรพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อที่สามารถนำสื่อมวลชนดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ให้ความรู้ ความบันเทิงได้โดยไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ประเทศชาติและผู้ใช้บริการ