วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550

สื่อมวลชนกับการศึกษา

ปัจจุบันชีวิตของมนุษย์ย่อมเกี่ยวข้องกับการสื่อมวลชนไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เป็นที่ยอมรับกันว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลเหนือจิตใจของประชาชน ซึ่งถูกกำหนดและชักจูงให้เกิดความรู้สึกหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไป ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว สื่อมวลชนเองก็จะต้องตระหนักในหน้าที่ที่จะต้องกระทำและมองดูบทบาทของตนที่จะมีส่วนในการจรรโลงสังคมให้ดีขึ้น และปรับบทบาทของตนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และช่วยเป็นกระจกสะท้อนภาพปัญหาและทางแก้ไขปัญหาให้สังคมด้วย
ความหมายของสื่อมวลชน
การสื่อสารมวลชนเป็นการติดต่อสื่อสารไปยังผู้รับสารที่มีจำนวนมากๆ หรือเป็น มวลชนซึ่งมวลชนอาจรวมกันอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งหรือกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ โดยการเข้าถึงผู้รับ (elements of circulation) มี 3 ประการ คือ
1. ความสะดวกของผู้รับในการใช้สื่อ
2. ความสามารถในการรับสารได้ในทันทีที่ต้องการ
3. ความรวดเร็วในการส่งสาร
สื่อมวลชนประกอบด้วย
1. สื่อสิ่งพิมพ์ (print materials) ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ แผ่นพับจดหมายเวียน ใบติดประกาศ ตัวอักษรที่เครื่องบินพ่นเป็นควันบนฟ้า และเครื่องมืออื่น ๆ ซึ่งนำสารไปสู่ มวลชนโดยผ่านทางตา
2. สื่ออิเลคโทรนิค (electronic media) ได้แก่ รายการวิทยุ และการบันทึกเสียงต่าง ๆ ซึ่งผ่านทางหู หรือ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และการบันทึกวิดีโอ ซึ่งผ่านทั้งทางตาและทางหู
3. สื่อบุคคลสื่อบุคคล เป็นสื่อที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารที่เก่าแก่ที่สุด เริ่มตั้งแต่การกำเนิดมนุษย์ชาติการติดต่อสื่อสารโดยสื่อบุคคลนั้น อาจมีทั้งในรูปของคำพูด และการแสดงออกทางอากัปกิริยา ท่าทาง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการสื่อสารวิธีดังกล่าวเป็นเครื่องมือการ สื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสื่อหนึ่ง
บทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน
บทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน คือ การกระทำของสื่อมวลชนที่ได้ส่งผล กำลังส่งผลหรือที่จะส่งผลต่อชีวิตและสังคมนั่นเอง ซึ่งการกระทำนั้นอาจเป็นไปตามธรรมชาติของการสื่อสารมวลชนหรือเป็นไปตามจารีตประเพณีหรือศีลธรรมจรรยาของสังคม ตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้สำหรับอาชีพหรือวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นๆบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางด้านสังคมโดยรวมและบุคคลทั้งทางลบและทางบวก ยกตัวอย่างเช่น สื่อมวลชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจและการอุตสาหกรรมอย่างขาดไม่ได้ ช่วยสร้างงานให้กับคนงานจำนวนหลายล้านคน ในวงการสื่อเองก็เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งมีการลงทุนจำนวนมหาศาล สื่อมวลชนกลายเป็นศูนย์รวมทางด้านการเมือง โดยมีการใช้สื่อเพื่อการรณรงค์ทางการเมืองของพรรค การหาเสียง และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป การสื่อสารมวลชนเข้าไปแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชน การรับฟังรายการวิทยุ การชมรายการโทรทัศน์ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนที่อยู่ในเมืองและในชนบท ทั้งเพื่อความบันเทิง การรับรู้ข่าวสารต่างๆจากภายในประเทศและต่างประเทศ ความรู้และวิทยาการต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนข้อมูลของสินค้าและบริการที่โฆษณาผ่านสื่อต่างๆ หนังสือหรือนิตยสารช่วยให้เราสามารถรับความรู้และข่าวสารทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน การเข้าชมภาพยนตร์ตามโรงภาพยนตร์ที่มีอยู่ทั่วไปเป็นการตอบสนองทางด้านความบันเทิงและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในสังคมต่างๆอย่างไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงผลในด้านตรงกันข้ามหรือด้านลบแล้ว การวิจารณ์สื่อมวลชนที่ผ่านมาแสดงให้เราเห็นว่า สื่อมวลชนสามารถทำให้เกิดผลบางอย่างที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น หลายครั้งที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงผลเสียต่อสังคมที่เกิดจากการกระทำของสื่อมวลชน เช่นการบริโภคข่าวสารที่ไม่เป็นประโยชน์ การมอมเมาประชาชนให้หลงเชื่อข่าวสารที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ โชคลาง การใบ้หวยของเกจิอาจารย์ชื่อดัง จากการประโคมข่าวของสื่อมวลชน การพยายามสร้างข่าวเพื่อเป็นประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางพวกโดยใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือ หรือแม้แต่นักข่าวที่ไร้จรรยาบรรณ ใช้สื่อมวลชนเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์หรืออามิสสินจ้างที่ไม่ถูกต้องตามกฎ ระเบียบขององค์กร เป็นต้นหากสื่อมวลชนได้ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของสถาบันที่มีต่อประชาชน และรู้ถึงบทบาท ในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของสื่อ และพยายามกำหนดบทบาทปละหน้าที่ไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว ก็เชื่อแน่ได้ว่าจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมทั้งประเทศและของโลกที่เราอาศัย
สื่อมวลชนที่มีอิทธิพลต่อสังคมมากที่สุดในปัจจุบันคือ เพราะอะไร
สื่อทุกชนิดมีอิทธิพลต่อสังคม เพราะ สื่อมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเรียนรู้และการพัฒนาการของมนุษย์ และไม่อาจปฎิเสธได้ว่าสื่อนี้เองสามารถส่งผลกระทบทั้งในเชิงสร้างสรรค์และผลกระทบในเชิงลบให้กับผู้รับสื่อ โดยเฉพาะ กลุ่มเด็ก เยาวชนและครอบครัว สื่อมีพลังอำนาจอย่างสูงในการปลูกฝังค่านิยมเรื่องเพศ ความรุนแรง และบริโภคนิยม ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม และในหลายต่อหลายครั้งที่เราจะพบว่าสื่อได้กลายเป็นต้นเหตุของการโน้มนำสู่การกระทำที่ไม่สมควร เช่น ในกรณีของสื่อลามกอนาจาร สื่อความรุนแรงที่ได้กลายเป็นสาเหตุของการกระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ
ความคิดเห็นเกี่ยวกับคำกล่าวที่ว่าสื่อมวลชนเปรียบเสมือนดาบสองคม
ผลกระทบจากการรายงานข่าว และเสนอภาพข่าวดังกล่าว เปรียบเสมือนดาบสองคม แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเปรียบเสมือนดาบสามคม ท่านอ่านไม่ผิดแน่นอน ปกติ เรามักจะได้ยินเฉพาะดาบสองคม ซึ่งความหมายก็คือ คมที่หนึ่ง จะให้คุณ หรือให้ประโยชน์กับเรา ส่วนคมที่ สอง ก็จะให้โทษ หรือให้ผลในด้านลบกับเรา ผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ในการตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง หากมีลักษณะดาบสองคมแล้ว ก็จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการตัดสินใจ และจะต้องคิดชั่งน้ำหนักให้รอบคอบว่า ผลบวก ที่ได้ กับผลลบที่จะเกิดขึ้นอันไหนจะมากกว่ากัน ส่วนเรื่องที่ข้าพเจ้ากำลังพูดถึงคือการเสนอภาพเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับอันตรายนี้เปรียบเสมือนดาบ สองคมคือ
คมที่หนึ่ง สื่อจะได้ประโยชน์จากการขายข่าว ได้ผลงานจากการนำเสนอที่รวดเร็ว ฉับไว ตรงไปตรงมา และประชาชนบางส่วนที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในภาคใต้ก็ได้ประโยชน์จากการรับทราบข้อมูลข่าวสารที่สื่อต่าง ๆ แข่งขันกันรายงาน ถือว่า คนกลุ่มน้อยของประเทศไทยได้ประโยชน์
คมที่สอง จะให้โทษกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ บั่นทอน ขวัญ กำลังใจของเจ้าหน้าที่ สร้างความสยดสยองกับพี่น้องประชาชนทั่วไป และทำให้ประเทศไทยขาดความเชื่อมั่นจากต่างชาติ ถือว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเสียประโยชน์
คมที่สาม ถือว่าสำคัญยิ่ง และเป็นหัวใจที่ข้าพเจ้าตั้งใจเขียนก็คือ ภาพดังกล่าว สร้างผลงานให้ผู้ก่อการร้าย สร้างวีรบุรุษ ของพวกเขา สร้างขวัญ สร้างกำลังใจ สร้างความฮึกเหิม และสามารถเรียกรับเงินสนับสนุนได้มากขึ้น เพราะผลงานที่เขาสร้างความย่อยยับให้กับประเทศไทยนั้นปรากฎตามสื่อต่าง ๆ โดยที่มิต้องไปตระเวนหาว่าเขามีผลงานหรือไม่ ถือว่า ฝ่ายตรงข้ามได้ประโยชน์
ความคิดเห็นกับการจัดเรตติ้งทางทีวี
การจัดประเภทรายการ เป็นสิ่งที่ดีมาก ไม่เช่นนั้น เด็กก็จะยังได้รับภาพและเรื่องราวที่ไม่เหมาะสมอยู่ดี อย่างกลับบ้านมาตอนเย็นไม่มีผู้ใหญ่ดูทีวีด้วย แล้วใครจะแนะนำ อย่าว่าแต่เด็ก ผู้ใหญ่กันเองก็ดี ถ้าดูละครตบตี อิจฉาริษยา มากๆ ก็อาจติดมาใช้ในชีวิตจริงได้ ทำลายความสุขส่วนรวมของสังคมอย่างยิ่ง แทนที่จะคิดช่วยกัน กลายเป็นคิดแย่งกัน
SMS มีผลดีผลเสียกับสังคมอย่างไร
มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีของ SMS คือ สามารถแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ผ่าน SMS ได้ ข้อเสีย หากมีบุคคลส่งประเด็นที่ล่อแหลม ภาษาไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นตัวอย่างไม่ดีต่อเยาวชนของชาติเพราะบางครั้งเด็ก ไม่สามารถแยกได้ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี เพราะข้อความแสดงขึ้นหน้าจอ โดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องก่อน และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงคือเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์ต่าง ๆ
การนำสื่อมวลชนมาใช้ในการศึกษาจะเกิดประโยชน์กับการศึกษาหรือการเรียนการสอนอย่างไร
ประโยชน์ของการนำสื่อมวลชนมาใช้ในสถานศึกษา
1. สามารถแพร่กระจายความรู้เนื้อหาสาระในสาขาวิชาต่าง ๆ ไปสู่คนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้กว้างขวางขึ้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์
2. เปิดโอกาสให้ประชาชนที่กระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีโอกาสได้รับประโยชน์ทางการศึกษาเท่าเทียมกัน เป็นการขยายห้องเรียนให้กว้างออกไป โดยผู้เรียนไม่ต้องมาเข้าชั้นเรียน แต่สามารถเรียนได้ตามลำพังและตลอดเวลา
3. ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัสดุการศึกษาของระบบโรงเรียน ทั้งด้านสถานที่ บุคลากร สื่อการเรียนการสอน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
4. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของรัฐ ถ้าได้มีการวางแผนเตรียมการัดกุมจะสามารถจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนได้ครอบคลุม ต่อเนื่องและมีคุณภาพคุ้มกับการลงทุน
ประโยชนทางด้านการสอน
1. เพื่อการสอนโดยตรง สื่อมวลชนที่ใช้สอนโดยตรงจะต้องมีเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในสื่อตรงตามเนื้อหาบทเรียน
2. เพื่อเพิ่มคุณค่าทางการสอน เป็นการนำสื่อมวลชนมาใช้ประกอบการสอนเพื่อเพิ่มความรู้แก่ผู้เรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าที่เรียนจากสื่อที่ใช้ในการสอนโดยตรงในชั้นเรียน สื่อมวลชนที่นำมาใช้จะมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับบทเรียนตามหลักสูตร แต่จะขยายวงกว้างกว่าสื่อที่นำมาสอนโดยตรง
จะมีแนวทางในการนำสื่อมวลชนมาใช้กับการศึกษาได้โดย
1. ใช้เป็นเครื่องมือในการสอน ผู้สอนสามารถนำรายการวิทยุ โทรทัศน์ มาผนวกกับการสอน และเป็นสื่อที่ให้เนื้อหาความรู้เกี่ยวกับบทเรียนนั้นโดยตรง
2.ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการ โดยการใช้กล้องโทรทัศน์ช่วยในการจับภาพจากกล้องจุลทัศน์เพื่อฉายให้ผู้เรียนเห็นบนจอรับภาพ
3.ใช้เป็นสื่อสอนแทนครู ในกรณีที่มีการขาดแคลนครู ก็อาจใช้วิทยุหรือโทรทัศน์เพื่ออกอากาศการสอนได้
4.ใช้เป็นเพื่อเสริมความรู้ เป็นการใช้รายการวิทยุ โทรทัศน์ ข่าวสารบทความเสริมให้ผู้เรียนได้รับความรู้
5.ใช้เป็นอุปกรณ์การสอนจุลภาค/มหภาค โดยการบันทึกวีดิทัศน์การสอนหรือการปฏิบัติของผู้เรียนแต่ละคน
6.ใช้เป็นสื่อในการศึกษาระบบเปิด โดยใช้วิทยุหรือโทรทัศน์เป็นสื่อเพื่อดำเนินการสอนส่งไปยังผู้เรียนที่อยู่ตามบ้าน
7. ใช้เป็นอุปกรณ์ในการบันทึกเรื่องราวสำคัญ การแสดง การทดลอง การบรรยายโดยวิทยากร ที่ออกอากาศทางวิทยุ สามารถบันทึกลงวีดิทัศน์ เทปบันทึกเสียง และสิ่งพิมพ์ได้
8. ใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ เป็นการรวบรวมวัสดุที่บันทึกเรื่องราวสำคัญต่างๆ ไว้เพื่อการศึกษาค้นคว้า โดยอาจเก็บไว้ในห้องสมุด
9. ใช้เป็นให้ผู้เรียนหรือผู้ฟัง/ผู้ชมร่วมในรายการ
10. ใช้เป็นเพิ่มความเป็นธรรมในสังคม โดยการให้ความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ผู้ที่ต้องออกจากโรงเรียน ผู้เรียนกลุ่มพิเศษ โดยการใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ วีดิทัศน์
11. ใช้เป็นเพื่อบริการสังคม เพื่อการเสนอข่าวสาร ความรู้ สาระบันเทิง ตลอดจนการศึกษาทั้งทางตรง และทางอ้อม
เมื่อมีสื่อมวลชนประเภทต่างๆ มีแพร่หลายมากในปัจจุบันดังนั้น การใช้สื่อมวลชนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และควรพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อที่สามารถนำสื่อมวลชนดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ให้ความรู้ ความบันเทิงได้โดยไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ประเทศชาติและผู้ใช้บริการ

ไม่มีความคิดเห็น: